รวม 7 ขั้นตอนการตรวจระบบไฟฟ้าในบ้านเบื้องต้นง่าย ๆ สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
หนึ่งในส่วนประกอบสำคัญในการตรวจบ้าน และจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันคงหนีไม่พ้น ระบบไฟฟ้าในบ้าน โดยหลายคนมักจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากและไกลตัว จึงปล่อยปะละเลยไป ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้นานหรือใช้งานโดยไม่ดูแล ก็อาจจะส่งผลต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินได้
ในบทความนี้ Mr.Home Inspector จะมาแนะนำการตรวจเช็กระบบไฟฟ้าในบ้านเบื้องต้น เพื่อเป็นแนวทางในการตรวจเช็กระบบไฟบ้านด้วยตัวเองได้อย่างปลอดภัย
1.ตรวจเช็กตู้โหลดไฟฟ้า
ตู้โหลดไฟฟ้า หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่ากล่องไฟ เป็นอุปกรณ์ควบคุมการจ่ายไฟภายในบ้าน ซึ่งทุกบ้านควรจะมี เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟฟ้า ถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ขั้นแรกควรตรวจสอบภายในกล่องว่าภายในมีการเดินสายไฟเรียบร้อย ไม่มีรอยแตกของอุปกรณ์ใดๆ และทดสอบสวิตช์ตัดไฟว่าสามารถใช้ได้จริง ส่วนวงจรย่อยหรือเบรกเกอร์ย่อยในตู้โหลดไฟฟ้า ควรมีการแยกวงจรอย่างชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการบำรุงรักษา เช่น วงจรไฟให้ความสว่าง วงจรเครื่องทำน้ำอุ่นหรือปั๊มน้ำ และวงจรเครื่องปรับอากาศ
2.ตรวจเช็กมิเตอร์ไฟฟ้า
ตรวจสอบความเรียบร้อยของการติดตั้งว่าแน่นหนาและอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่เอียงหรืออยู่สูงเกินไป สายไฟต่อเข้ามิเตอร์ทั้งขาเข้าและขาออกเรียบร้อยดีไม่หย่อนหรือตึงจนเกินไป ไม่พาดผ่านต้นไม้หรือจุดที่มีผู้คนเดินผ่าน
3.ตรวจเช็กสายไฟ
ตรวจสอบสายไฟในตำแหน่งต่าง ๆ ที่อยู่ภายในบ้านให้เรียบร้อย สายไฟบริเวณเพดานหรือใต้โถงหลังคาควรอยู่ในท่อร้อยสายไฟเพื่อป้องกันความเสียหายจากหนูกัดแทะหรือหลังคารั่ว และหากพบเห็นสายไฟลอยตัวออกมาจากผนังควรติดกิ๊บรัดสายไฟเป็นระยะเพื่อความเรียบร้อย
สำหรับสายไฟที่เชื่อมต่อระบบไฟฟ้าเข้ามาภายในตัวบ้าน จะถูกลำเลียงมาตามสายไฟ 3 เส้น ได้แก่
- สาย L คือ สายด้านบนสุดที่มีไฟฟ้าวิ่งมาจากแหล่งจ่ายไฟหรือหม้อแปลงของการไฟฟ้า สายนี้จะมีศักย์ไฟฟ้าสูงถึง 220 โวลต์
- สาย N คือ เป็นเส้นที่ไฟฟ้าจะวิ่งกลับไปยังหม้อแปลงของการไฟฟ้าที่เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าให้เรา
- สาย G คือ สายนี้มีไว้สำหรับต่อสายดินเข้าตัวบ้าน โดยจะต่อเข้ากับทุ่นเหล็กที่ตอกลงไปในดิน
4.ตรวจเช็กปลั๊กไฟหรือเต้าเสียบปลั๊กไฟ
ต้องตรวจสอบปลั๊กไฟว่ามีอาการหลวม มีรอยไหม้ หรือรอยแตกร้าวไหม ถ้าเจอเต้ารับหลวมก็ควรขันสกรูให้แน่น แต่ถ้ามีรอยแตกหรือไหม้ให้เปลี่ยนใหม่ทันที หากชำนาญสามารถตรวจสอบเต้ารับทุกจุดว่ามีไฟหรือไม่ โดยการใช้ไขควงวัดไฟ ถ้าหลอดไฟสว่างขึ้นแสดงว่าเต้ารับยังใช้งานได้ปกติ
5.ตรวจเช็กสวิตช์ไฟ
ตรวจสอบโดยการเปิดสวิตช์ไฟทุกดวงทั้งในและนอกบ้าน ว่าสามารถใช้งานได้ดีทุกจุด ไม่ฝืดหรือค้าง ฝากครอบสวิตช์ต้องปิดแน่นสนิทไม่มีรอยแตกร้าว โดยต้องติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่มีความชื้นและสูงกว่าระดับน้ำท่วมถึง
6.ตรวจเช็กเครื่องใช้ไฟฟ้า
ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ติดตั้งกับตัวบ้านไว้แล้ว เช่น เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำน้ำอุ่น ว่าสามารถใช้งานได้ตามปกติทุกชิ้น สามารถเปิดใช้งานพร้อม ๆ กันได้โดยไม่มีอาการไฟตกหรือไฟรั่ว เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำหรืออยู่ในบริเวณที่เปียกชื้นตลอดเวลา เช่น เครื่องซักผ้า ปั๊มน้ำ และเครื่องทำน้ำอุ่น ทั้งหมดควรต่อสายดินเพื่อความปลอดภัย
7.เช็กไฟฟ้ารั่วภายในบ้าน
การแก้ปัญหาไฟฟ้ารั่วเป็นที่สิ่งที่ทำได้ยากและอันตรายมาก ดังนั้นจึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก มี 2 วิธีคือ
- ตรวจสอบไฟรั่วด้วยการสังเกตมิเตอร์ไฟฟ้า – ปิดไฟและถอดปลั๊กอุปกรณ์ทั้งหมดภายในบ้าน สังเกตมิเตอร์ไฟว่าเฟืองหมุนหรือไม่ หากหมุนแสดงว่าไฟรั่ว ควรเรียกไฟฟ้าช่างทันที
- ตรวจสอบไฟรั่วโดยใช้ไขควงไฟ – ปิดไฟทั้งหมดเหมือนเดิม แล้วแตะไขควงเช็กไฟลงบนอุปกรณ์ที่เสียบปลั๊กไว้ ถ้ามีไฟขึ้นแปลว่ามีกระแสไฟรั่วหรืออาจจะเกิดจากการต่อไฟบริเวณปลั๊กที่ไม่ถูกต้อง ควรเรียกช่างมาตรวจสอบและแก้ไขเช่นกัน
แนวทางการตรวจระบบไฟฟ้าบ้านเบื้องต้นที่กล่าวมา นอกจากจะทำให้เข้าใจระบบไฟฟ้าของบ้านมากขึ้น ยังช่วยทำให้เจ้าของบ้านมั่นใจในความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในบ้านมากขึ้น
Mr.Home Inspector รับตรวจบ้านและคอนโด พร้อมตรวจระบบไฟฟ้าบ้านอย่างละเอียด โดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ
การเช็กระบบไฟฟ้าภายในบ้านจำเป็นต้องตรวจเช็กความปลอดภัยด้วยบริษัท ตรวจบ้านหรือตรวจคอนโด มืออาชีพ แนะนำให้ใช้บริการตรวจจากบริษัทที่ไว้ใจได้ Mr.Home Inspector ด้วยประสบการณ์ตรวจกว่า 10,000 ยูนิต – เราให้บริการตรวจรับบ้านทั่วประเทศไทยมากกว่า 15 ปี ตรวจบ้านและคอนโด ด้วยเช็คลิสต์ตรวจบ้านที่ครอบคลุมตั้งแต่แปลนก่อสร้างไปจนถึงระบบไฟฟ้าในบ้าน โดยวิศวกรที่มีใบอนุญาตและมีประสบการณ์สูง ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทันสมัยในการตรวจสอบทุกจุด
สอบถามราคาหรือข้อมูลเพิ่มเติม:
โทร.: 086-507-8885
LINE OA: @mr.homeinspector